
ใบกระท่อมก็ใช้กินเป็นยาตามคำแนะนำของแพทย์แผนทางเลือกได้ แต่ต้องกินให้ถูกวิธีถึงจะได้ประโยชน์
ประโยชน์ของใบกระท่อม
- รักษาอาการปวดเมื่อย
เคี้ยวใบกระท่อมสด ครั้งละ 1-3 ครั้ง คายกากทิ้ง และดื่มน้ำอุ่นตาม ควรใช้ไม่เกินวันละ 2 ครั้ง
หรืออีกวิธีคือ นำใบกระท่อมไปตากแห้ง บดเป็นผง ผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดมะเขือพวง รับประทานเช้า-เย็น ก่อนอาหาร ครั้งละ 2-3 เม็ด เมื่อหายแล้วให้หยุดใช้
สามารถใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ได้ เช่น เถาวัลย์เปรียง เถาเอ็นอ่อน เถาโคคลาน กำแพงเจ็ดชั้น เป็นต้น
- รักษาอาการไอ
นำใบกระท่อมสด 1 ใบ น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา เคี้ยวแล้วอม ค่อยกลืนน้ำ คายกากทิ้ง รับประทานเมื่อมีอาการ 3-4 ครั้ง
- ลดน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
เคี้ยวใบกระท่อมแก่วันละ 2 ใบ ก่อนอาหารเช้า เคี้ยวเอาแต่น้ำ คายกากทิ้ง ดื่มน้ำอุ่นตาม
สามารถใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ได้ เช่น หญ้าใต้ใบ ผักเสี้ยนผี น้ำนมราชสีห์ เป็นต้น
- บรรเทาอาการปวดท้อง ท้องเสีย
เคี้ยวใบกระท่อมครึ่งใบ คายกากทิ้ง ดื่มน้ำอุ่นตาม หรือนำใบกระท่อม 3-5 ใบ ต้มกับน้ำตาลโตนด หรือน้ำตาลทรายแดง รับประทานครั้งละครึ่งถ้วยกาแฟ เช้า-เย็น
หรืออีกวิธีคือ นำใบกระท่อม 3 ใบ ตำให้แหลก ผสมน้ำปูนใส 3 ช้อนโต๊ะ คั้นเอาน้ำ รับประทานทุก 3 ชั่วโมง เมื่อหายแล้วให้หยุดใช้
- รักษาแผลสด
ตำใบกระท่อมสดให้แหลก ผสมเหล้าขาว พอกแผลสด
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง
เคี้ยวใบกระท่อมสด 1-2 ใบ กลืนน้ำ คายกากทิ้ง วันละ 3-4 ครั้ง
อีกวิธีคือ นำใบกระท่อมต้มกับน้ำสะอาด ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยกาแฟ วันละ 3 ครั้ง
ทั้งสองวิธีนี้ เมื่อความดันโลหิตลดลงมาเป็นปกติ ให้หยุดกินทันที
- รักษาโรคกระเพาะอาหาร
เคี้ยวใบสด 2-3 ใบ กลืนน้ำ คายกากทิ้ง ตอนเช้าขณะท้องว่าง รับประทานติดต่อกัน 7-10 วัน
- รักษาอาการปวดฟัน
นำใบกระท่อมสด 1 ใบ ผสมเกลือ เคี้ยวแล้วอม ช่วยลดอาการปวดฟันได้
การรักษาอาการต่างๆ ด้วยใบกระท่อม ส่วนมากจะเป็นการให้เคี้ยวใบกระท่อมสดๆ และคายทิ้ง แต่ต้องเคี้ยวให้ถูกวิธี
- นำใบกระท่อมสดมาล้างน้ำให้สะอาด ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
- ลอกก้านใบออก ทำได้ 2 วิธี
- วิธีที่ 1 ลอกเส้นใบออกในลักษณะเป็นรูปก้างปลา จากนั้นลอกเส้นกลางใบออก ให้เหลือเพียงเนื้อใบ
- วิธีที่ 2 ลอกเฉพาะส่วนเนื้อใบเพื่อนำมาเคี้ยว - เคี้ยวใบกระท่อมให้ละเอียด ดูดกลืนน้ำลงคอ
- คายกากทิ้ง ดื่มน้ำตาม
นอกจากนี้ ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถบริโภคใบกระท่อม น้ำต้มใบกระท่อม หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของใบกระท่อมได้ ดังนี้
- เด็ก และเยาวชน ใบกระท่อมอาจมีผลต่อสุขภาพอนามัย และพัฒนาการของเด็กได้
- สตรีมีครรภ์ ใบกระท่อมอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ได้
- สตรีให้นมบุตร ใบกระท่อมอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกที่กินนมจากแม่ได้
ภาพ :iStock